คปภ. ผนึก 8 หน่วยงาน ลงนาม MOU บูรณาการระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางทั้งไทย-ต่างชาติ เปิดมิติใหม่ความร่วมมือในการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบเว็บท่า (Web Portal) ภายใต้ชื่อ “Entry Thailand” (entrythailand.go.th) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติอย่างครบวงจร

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2564 เห็นชอบให้ส่วนราชการขับเคลื่อนการให้บริการประชาชนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-service) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ในงานบริการ Agenda 12 งานบริการซึ่งเป็นงานบริการที่สอดคล้องตามแผนปฏิรูปประเทศ และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการจัดทำระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) โดยได้มีการจัดทำเว็บท่าและรวบรวมลิงก์ รวมถึงข้อมูลการเดินทางเข้าประเทศเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวในมิติต่าง ๆ

ในส่วนของสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินการให้ความเห็นชอบแบบ ข้อความ และอัตราเบี้ยประกันภัย โดยขายผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ให้กับบริษัทประกันชีวิต จำนวน 4 บริษัท และบริษัทประกันวินาศภัย จำนวน 10 บริษัท
โดยบริษัทจะดำเนินการรับประกันภัยในรูปแบบ Pooling ซึ่งกรมธรรม์ประกันภัยดังกล่าวให้ความคุ้มครองการเสียชีวิตที่มีสาเหตุมาจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การรักษาพยาบาลจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) การเสียชีวิต การสูญเสียอวัยวะ สายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิงจากอุบัติเหตุ (อ.บ.1) และการรักษาพยาบาลจากอุบัติเหตุ ซึ่งสอดคล้องกับมาตรการที่หน่วยงานภาครัฐกำหนด ในการร่วมมือครั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้นำลิงก์เว็บไซต์ https://covid19.tgia.org/ ไปใส่ไว้ในหน้าเว็บท่าที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาพัฒนาขึ้น โดยนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติสามารถซื้อประกันภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถเข้ามาตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ผ่านเว็บไซต์ดังกล่าวได้ แบบ Real-Time ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐให้มีความสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น

ดังนั้น เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 ณ โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส หลานหลวง กรุงเทพฯ สำนักงาน คปภ. โดยดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ. จึงร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการบูรณาการระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง ร่วมกับ 8 หน่วยงาน ประกอบด้วย กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กรมสรรพากร กระทรวงการคลัง กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) โดยมีนายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนาม MOU) ครั้งนี้ เพื่อบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลสู่ระบบเว็บท่า (Web Portal) ในชื่อ “Entry Thailand” (www.entrythailand.go.th) และอํานวยความสะดวกให้กับผู้เดินทางทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในการเดินทางเข้าประเทศ ตลอดจนสร้างกลไกการดำเนินงานที่เชื่อมโยงสอดรับกับแนวนโยบายรัฐบาล เพื่อให้เกิดการดำเนินงานแบบบูรณาการที่มีประสิทธิภาพ บรรลุผลตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างยั่งยืน

เลขาธิการ คปภ. กล่าวด้วยว่า การทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อบูรณาการความร่วมมือระบบอำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทาง (MOU) ในครั้ง ทั้ง 9 หน่วยงาน มีขอบเขตความร่วมมือหลัก ๆ 4 ประการ คือ ประการแรก ทั้ง 9 หน่วยงาน มีเจตนารมณ์ร่วมมือกันในการบูรณาการดำเนินงานบริการด้านการเดินทางแก่นักท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงความสะดวกของนักท่องเที่ยว การลดขั้นตอนความยุ่งยากของนักท่องเที่ยว เพื่อให้การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเกิดความสะดวกตั้งแต่เข้ามาถึงประเทศไทย จนกระทั่งเดินทางกลับภูมิลำเนา ด้วยการจัดทำระบบการอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้เดินทาง (Ease of Traveling) โดยการจัดทำเว็บท่า (Web Portal) ซึ่งจะเป็นที่รวมขั้นตอนต่าง ๆ ที่นักท่องเที่ยวต้องดำเนินการเพื่อเข้าประเทศไทยไว้ในที่เดียวแบบครบวงจร

ประการที่ 2 ทั้ง 9 หน่วยงาน มีความประสงค์ในการกำหนดขอบเขตการดำเนินงานและกิจกรรมความร่วมมือโดยสำนักงานปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเป็นผู้ออกแบบแพลตฟอร์มข้อมูลกลาง รวบรวมลิงก์เว็บไซต์ และข้อมูลสำคัญ ซึ่งมีการเชื่อมโยงของระบบต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน ได้แก่ แอปพลิเคชัน “Thailand Pass” สำหรับกรอกข้อมูลด้านสุขภาพ (Health Declaration Form) สำหรับเดินทางท่าอากาศยาน และแอปพลิเคชัน “DDC Pass” สำหรับกรอกข้อมูลด้านสุขภาพ (Health Declaration Form) สำหรับพรมแดนและเรือ ของกรมควบคุมโรค เรื่องของการขอ e-Visa ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ของกรมการกงสุล เรื่องการอำนวยความสะดวกเกี่ยวกับการประกันภัย COVID-19 สำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติก่อนเข้าประเทศ ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่องการค้นหาข้อมูลด้านการท่องเที่ยวในราชอาณาจักรไทยจากเว็บไซต์ Thailand Tourism Directory และ TAT News ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เรื่องตารางเที่ยวบินของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) เรื่องการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่นักท่องเที่ยว (VAT Refund for Tourists) ของกรมสรรพากร และแอปพลิเคชัน Tourist Police I Lert U ของกองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว

ประการที่ 3 กรณีที่บันทึกข้อตกลงนี้มีการดำเนินการเกี่ยวข้องกับข้อมูล เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลของนักท่องเที่ยว ตลอดจนข้อมูลส่วนบุคคลของบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตามข้อตกลงฉบับนี้ ให้ทั้ง 9 หน่วยงาน ดำเนินการตามมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

และประการที่ 4 บรรดาข้อมูลที่ทั้ง 9 หน่วยงาน ได้รับจากการดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดให้ถือว่าเป็นความลับร่วมกัน ซึ่งทั้ง 9 หน่วยงานจะต้องนำไปใช้ประโยชน์เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
ตามบันทึกข้อตกลงฉบับนี้เท่านั้น โดยจะไม่เปิดเผยข้อมูลแก่บุคคลอื่นหรือต่อสาธารณชนแม้ว่าบันทึกข้อตกลงฉบับนี้จะสิ้นสุดลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตาม เว้นแต่จะได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากอีกฝ่ายหนึ่งหรือเป็นข้อมูลที่เปิดเผยต่อสาธารณชนอยู่แล้ว หรือเป็นกรณีจำเป็นจะต้องเปิดเผยตามผลบังคับของกฎหมาย หรือจากผู้มีอำนาจรัฐ ซึ่งจะต้องแจ้งเป็นหนังสือให้อีกฝ่ายทราบล่วงหน้าก่อนการเปิดเผยข้อมูล

โดยบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้มีผลใช้บังคับเป็นระยะเวลา 3 ปี นับแต่วันที่ ทั้ง 9 หน่วยงาน ลงนามร่วมกัน ทั้งนี้ ก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้สิ้นสุดลงไม่น้อยกว่า 30 วัน ทั้ง 9 หน่วยงาน อาจตกลงร่วมกันเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อขยายระยะเวลาความร่วมมือภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ออกไปได้ตามความเหมาะสม ส่วนการยกเลิกความร่วมมือตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ก่อนระยะเวลาจะสิ้นสุดลงต้องกระทำโดยความเห็นชอบทั้ง 9 หน่วยงานและจะต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร ทั้งนี้ กรณีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้สิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ไม่มีผลเป็นการยกเลิกโครงการหรือกิจกรรมที่ได้ดำเนินการไปแล้ว หรืออยู่ระหว่างดำเนินการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้

ทั้งนี้สำนักงาน คปภ. มีความยินดีให้ความร่วมมือในการให้เว็บไซต์ของสำนักงาน คปภ. หรือแพลตฟอร์มอื่นของสำนักงาน คปภ. เป็นอีกช่องทางในการประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง และเป็นประโยชน์ เพื่ออำนวยความสะดวกต่อนักท่องเที่ยวรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตต่อไป นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังได้พัฒนาแพลตฟอร์มกลาง COVID-19 Insurance Data Terminal for all ASEAN (www.asean-insur-data.org) เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รองรับแนวโน้มการเดินทางระหว่างประเทศที่กำลังเริ่มฟื้นตัว และส่งเสริมการเชื่อมโยงข้อมูลและการเข้าถึงระบบประกันภัยในภูมิภาคอาเซียน โดยได้รับความเห็นชอบและการตอบรับเป็นอย่างดีในการขับเคลื่อนโครงการนี้จากที่ประชุมประจำปีนายทะเบียนประกันภัยอาเซียน เมื่อเดือนตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ปัจจุบันได้พัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างประเทศสมาชิก ซึ่งจะเป็นแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับข้อมูลผลิตภัณฑ์ประกันภัย สถานการณ์ผู้ติดเชื้อแต่ละประเทศ มาตรการภาครัฐ และข้อกำหนดในการเดินทางเข้าประเทศที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลา ซึ่งแพลตฟอร์มดังกล่าวอาจเชื่อมกับเว็บท่านี้ เพื่อขยายขอบเขตการให้บริการและอำนวยความสะดวกให้กับประชากรอาเซียนได้อย่างครอบคลุมมากขึ้น

“ผมเชื่อมั่นว่าความร่วมมือของทั้ง 9 หน่วยงานที่มีความชำนาญในด้านต่าง ๆ จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและยกระดับความคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติอย่างครบวงจร” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน