คปภ.ติวเข้ม!ระบบประเมินความเสี่ยง ความมั่นคงทางการเงิน

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยภายในงานสัมมนา “แนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA)” เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ณ ห้องเลอ คองคอร์ด บอลรูม ชั้น 2 โรงแรมสวิส โซเทล เลอ คองคอร์ด กรุงเทพฯ ว่า การจัดงานครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ ERM/ORSA ให้กับบริษัทประกันภัย และชี้แจงแนวทางการกำกับการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงิน (ORSA) ข้อเสนอแนะและข้อคิดเห็นของภาคธุรกิจที่มีต่อ Consultation Paper และผลการทดสอบ ORSA รวมถึงแนวทางการบังคับใช้ ERM/ORSA ให้กับบริษัทประกันภัย โดยมีผู้บริหารระดับสูงและผู้แทนจากภาคธุรกิจบริษัทประกันภัยเข้าร่วมสัมมนากว่า 200 คน

สำหรับความคืบหน้าการพัฒนาแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัทประกันภัย (ORSA) แบ่งเป็น 5 ด้าน ดังนี้

ด้านแรก คือ การจัดทำร่างสารัตถะการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท ได้จัดทำแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ในรูปแบบของ Consultation paper ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการฯ

ด้านที่สอง คือ การทดสอบการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) สำนักงาน คปภ. กำหนดให้บริษัทประกันภัยทุกแห่งเข้าร่วมการทดสอบการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ตามรูปแบบและวิธีการที่กำหนด และจัดทำ Market survey เพื่อสำรวจความพร้อมของบริษัทประกันภัยที่มีต่อกรอบและกระบวนการ ERM/ORSA

ด้านที่สาม คือ การพัฒนาองค์ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ORSA ให้กับบริษัทประกันภัย เพื่อให้บริษัทประกันชีวิตและวินาศภัยเข้าใจหลักการและความสำคัญของ ORSA และสามารถจัดทำรายงานการทดสอบ ORSA ได้ตรงตามความคาดหวังของสำนักงาน คปภ. นอกจากนี้ได้ดำเนินการจัดสัมมนาสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับ ORSA ให้กับอุตสาหกรรมประกันภัยอย่างต่อเนื่อง

ด้านที่สี่ คือ การพัฒนาคู่มือการวิเคราะห์และติดตามความเหมาะสมของกระบวนการ ORSA และจัดอบรมเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ในด้านกำกับและด้านตรวจสอบ
– ระยะแรก การตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงาน ORSA โดยผู้วิเคราะห์ดำเนินการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงาน ORSA ในแต่ละหัวข้อของรายงาน ทั้งนี้ ผู้วิเคราะห์ควรประเมินและให้คะแนนแต่ละหัวข้อ โดยอาจแบ่งออกเป็น 3 ระดับ
– ระยะที่สอง การประเมินประสิทธิภาพของกรอบ ERM/ORSA ภายหลังจากการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงาน ORSA ในระยะที่ 1 แล้ว ผู้วิเคราะห์จัดส่งรายงานการตรวจสอบความสมบูรณ์ของรายงาน ORSA ให้กับผู้ตรวจสอบ เพื่อประเมินประสิทธิภาพของกรอบ ERM/ORSA ของบริษัท ณ ที่ทำการ

ด้านที่ห้า คือ การจัดทำร่างประกาศว่าด้วยเรื่องการบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม (ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ซึ่งสำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการจัดทำร่างสารัตถะของประกาศว่าด้วยเรื่องการบริหารความเสี่ยงแบบองค์รวม (ERM) และการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (ORSA) ร่วมกับที่ปรึกษาโครงการฯ

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า การบริหารจัดการความเสี่ยงที่ดี สามารถขับเคลื่อนให้ธุรกิจประกันภัยเจริญเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยได้ฝากข้อคิดบนพื้นฐานความพร้อมของการดำเนินธุรกิจไว้ 3 ประการ ได้แก่
คนพร้อม คือ บุคลากรที่เข้าใจด้านความเสี่ยง ผู้บริหารตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยง บริษัทมีนโยบายสร้างวัฒนธรรมความเสี่ยง (risk culture) ให้เกิดขึ้นในองค์กร

ระบบงานพร้อม คือ มีระบบงานที่พร้อม เหมาะสมกับสภาพ ขนาด ความซับซ้อนของบริษัท โดยเชื่อมโยงความเสี่ยงของทุกหน่วยธุรกิจและสามารถนำมาบริหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ

และ ข้อมูลพร้อม คือ มีการเก็บข้อมูลความเสี่ยงที่ดี น่าเชื่อถือ และ สอบทานได้ ก่อให้เกิดการนำข้อมูลไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

“สำนักงาน คปภ. จะมุ่งเน้นการบริหารความเสี่ยงในลักษณะ Forward Looking โดยผลการศึกษาจากโครงการพัฒนาแนวทางการประเมินความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินของบริษัท (Own Risk Solvency Assessment : ORSA) เพื่อสร้างเครื่องมือและกระบวนการดำเนินการภายในบริษัทที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มช่องว่าง ให้การบริหารความเสี่ยงของบริษัทมีประสิทธิภาพสามารถก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในการดำเนินธุรกิจและทำให้การบริหารความเสี่ยงผูกโยงเป็นส่วนหนึ่งของการตัดสินในเชิงกลยุทธ์ได้อย่างแท้จริง ซึ่งโครงการนี้จะช่วยปิดช่องว่างระหว่างกฎระเบียบของสำนักงาน คปภ. และเกณฑ์การกำกับ ในเรื่องการบริหารความเสี่ยงและความมั่นคงทางการเงินตามมาตรฐาน ICP เพื่อยกระดับการกำกับดูแลของ สำนักงาน คปภ. ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ กลุ่มงานสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 http://www.facebook.com/PROIC2012

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน