เศรษฐกิจโลกปี 2566 มีแนวโน้มขยายตัวดีกว่าที่ประเมินไว้ โดยข้อมูลจริงทยอยออกมาดีกว่าคาด มุมมองความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยเริ่มปรับลดลง อย่างไรก็ดี ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในปีนี้มีแนวโน้มชะลอลงจากปีก่อน เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงต่อเนื่อง แต่จะยังสูงกว่ากรอบเป้าหมายของธนาคารกลางไปอีก 1-2 ปี เงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มปรับลดลงได้ช้า และเป็นปัจจัยกดดันให้บางธนาคารกลางต้องปรับอัตราดอกเบี้ยไปสู่ระดับที่สูงขึ้น

เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีแนวโน้มชะลอตัวมากขึ้นในครึ่งหลังของปี โดยอาจหดตัวเล็กน้อยในบางภาคส่วน เช่น ภาคการผลิต ภาคอสังหาฯ สำหรับเงินเฟ้อทั่วไปผ่านจุดสูงสุดแล้ว แต่เงินเฟ้อพื้นฐานภาคบริการยังคงเร่งตัว ซึ่งเป็นเครื่องชี้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ให้ความสำคัญ จึงประเมินว่า Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อเนื่องจนถึงเดือนพฤษภาคมสู่ระดับ 5-5.25% จากเดิมที่คาดว่าจะหยุดขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม เศรษฐกิจยูโรโซนเผชิญความเสี่ยงถดถอยน้อยลง โดยข้อมูลเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด เงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มชะลอลงเร็ว แต่เงินเฟ้อพื้นฐานยังไม่ผ่านจุดสูงสุด โดย SCB EIC ยังคงมุมมองว่าธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยไปสู่ระดับ 3.25% ในเดือนพฤษภาคม แต่หากเงินเฟ้อพื้นฐานยังคงเร่งตัวสูง ECB อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยต่ออีกในเดือนมิถุนายน ไปสู่ระดับ 3.5% เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวแข็งแกร่งขึ้นหลังยกเลิกมาตรการ ZERO-COVID แต่การฟื้นตัวยังเปราะบางจากภาคอสังหาฯ ที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว นอกจากนี้ การส่งออกของจีนมีแนวโน้มชะลอตัวตามทิศทางเศรษฐกิจโลก และความตึงเครียดสหรัฐฯ-จีนที่อาจปะทุขึ้นอีก ขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มฟื้นตัวไม่เข้มแข็งนัก เนื่องจากเงินเฟ้อสูงกระทบการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ภาคการผลิตและการส่งออกมีแนวโน้มชะลอลงตามเศรษฐกิจโลก

ข้อมูลจริงเศรษฐกิจไทยในปี 2565 ออกมาขยายตัวต่ำกว่าคาดอยู่ที่ 2.6% (SCB EIC ประเมิน ณ 28 พฤศจิกายน 65 ที่ 3.2%YOY ตลาดคาดการณ์ไว้ 3.2%YOY) เศรษฐกิจไทยในไตรมาสสุดท้ายของปี 2565 ขยายตัวชะลอลงที่ 1.4%YOY โดยหดตัวจากไตรมาสก่อน -1.5%QOQ_sa (หลังปรับปัจจัยฤดูกาล) หากพิจารณาด้านการใช้จ่าย (Expenditure approach) การส่งออกที่เคยเป็นแรงขับเคลื่อนหลักหดตัวแรงเป็นครั้งแรกในรอบ 8 ไตรมาส จากการชะลอตัวและความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลัก อีกทั้ง การใช้จ่ายอุปโภคภาครัฐลดลงมากตามการลดลงของรายจ่ายเงินกู้พิเศษช่วง COVID-19 และอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณที่ต่ำลง ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนชะลอลงมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกที่ปรับแย่ลง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง สอดคล้องกับรายได้ภาคท่องเที่ยวและบริการที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและการท่องเที่ยวในประเทศ หากพิจารณาด้านการผลิต (Production approach) พบว่า หลายสาขาการผลิตฟื้นตัวได้ดี นำโดยภาคบริการที่ขยายตัวในเกณฑ์สูงตามการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวต่างชาติและการท่องเที่ยวในประเทศ รวมถึงภาคเกษตรที่กลับมาขยายตัวได้ หลังประสบปัญหาอุทกภัยในไตรมาสก่อนกระทบต่อการเก็บเกี่ยวและการขนส่ง อย่างไรก็ดี ภาคอุตสาหกรรมกลับมาหดตัวในไตรมาสนี้ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่เน้นส่งออกหดตัวแรงตามทิศทางการส่งออก

สำหรับปี 2566 SCB EIC มองเศรษฐกิจไทยจะเติบโตต่อเนื่อง แม้การส่งออกสินค้าจะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แต่จะได้ปัจจัยสนับสนุนเพิ่มเติมจากการกลับมาของนักท่องเที่ยวจีนที่มีโอกาสแตะ 4.8 ล้านคนหลังจีนยกเลิกมาตรการ ZERO-COVID เร็วกว่าคาด รวมถึงนักท่องเที่ยวชาติอื่นที่ฟื้นตัวดีขึ้น SCB EIC จึงปรับเพิ่มประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2566 เป็น 30 ล้านคน ซึ่งจะสร้างรายได้ให้ประเทศรวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท โดยประเมินว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะฟื้นกลับมาที่ระดับก่อนเกิด COVID-19 ได้ในช่วงปลายปี 2567 ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดแรงงานไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการ ขณะที่การส่งออกไทยมีแนวโน้มหดตัวตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลัก กดดันการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออกและการลงทุนภาคเอกชน อย่างไรก็ดี คาดว่า ในระยะต่อไปการส่งออกไทยจะได้รับอานิสงส์จากการยกเลิก ZERO-COVID ในจีนและความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอยที่ลดลงมาก สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไปและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของไทยเริ่มชะลอลงแล้วในเดือนมกราคม แต่คาดว่าจะมีแนวโน้มปรับลดลงไม่เร็วนัก จากการทยอยส่งผ่านต้นทุนจากผู้ผลิตสู่ราคาผู้บริโภคในช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเข้มแข็งขึ้น กอปรกับแรงกดดันเงินเฟ้อด้านอุปสงค์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลจากภาคบริการที่ฟื้นตัว

SCB EIC ประเมินว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะทยอยปรับขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 2% ในปีนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีแนวโน้มฟื้นตัวและเงินเฟ้อไทยจะยังไม่ปรับลดลงเร็วนัก ทั้งนี้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยนโยบายขาขึ้น การทยอยสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือทางการเงิน รวมถึงเงินบาทแข็งค่า จะทำให้ภาวะการเงินไทยมีแนวโน้มตึงตัวต่อเนื่อง เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ 31.5-32.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นปีนี้ จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจไทยที่เข้มแข็งขึ้น และเงินดอลลาร์สหรัฐที่จะอ่อนค่าลงหลัง Fed หยุดปรับขึ้นดอกเบี้ยในช่วงกลางปีนี้

อ่านบทวิเคราะห์ฉบับเต็มได้ที่… https://www.scbeic.com/th/detail/product/eic-monthly-0223

 

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน