SCB EIC สำรวจความเห็นผู้บริโภคไทยในแบบสำรวจ “SCB EIC Consumer survey 2566” เกี่ยวกับผลกระทบจากวิกฤตโควิดต่อรายได้ รายจ่าย รวมถึงภาระหนี้ในระบบและหนี้นอกระบบ การสำรวจครั้งนี้มีผู้ตอบแบบสำรวจเสร็จสมบูรณ์ทั้งสิ้น 4,733 คน จัดทำในช่วงวันที่ 20 มกราคม ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2566 โดยผลสำรวจสะท้อนปัญหาและแนวโน้มหนี้ครัวเรือน ตลอดจนนำไปสู่นัยต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง สรุปประเด็นสำคัญได้ดังนี้

  1. แม้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวต่อเนื่องแต่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังประสบปัญหารายได้ไม่พอรายจ่าย แสดงให้เห็นความเปราะบางที่ยังหลงเหลือจากวิกฤตโควิด แม้ผู้บริโภคส่วนใหญ่มีมุมมองต่อการฟื้นตัวของรายได้ที่ดีขึ้นในระยะข้างหน้าตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ แต่มองว่าการฟื้นตัวของรายได้จะเป็นไปอย่างช้าๆ และยังไม่กลับไปเท่าระดับก่อนวิกฤตในระยะเวลาอันใกล้ อีกทั้งที่ผ่านมาต้องเผชิญรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นจากค่าครองชีพที่เร่งตัว ผู้ตอบแบบสอบถาม 82% มีปัญหารายได้โตไม่ทันรายจ่าย โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย (ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน) ที่ประสบปัญหานี้มากถึง 89% ส่งผลโดยตรงต่อการออม ซึ่งมีเพียง 7% ของกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่สามารถเก็บออมได้ทุกเดือน ทั้งนี้ SCB EIC ประเมินว่า หนี้ครัวเรือนไทยจะมีแนวโน้มลดลงไม่เร็วนักในระยะต่อไป จากปัญหาความไม่สมดุลระหว่างรายได้และรายจ่าย รวมถึงปัญหาการออม ท่ามกลางเงินเฟ้อสูงและดอกเบี้ยสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย
  2. หนี้ครัวเรือนและหนี้นอกระบบเป็นความเสี่ยงสำคัญของครัวเรือนไทย ก่อนเกิดวิกฤตโควิดพบว่ามีสัดส่วนผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นหนี้ 63% โดยเกือบครึ่งหนึ่ง หรือ 31% เป็นหนี้นอกระบบและมีแนวโน้มจะก่อหนี้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับผู้ตอบแบบสอบถามที่มีหนี้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด แต่ไม่เคยมีหนี้มาก่อน พบว่ามีสัดส่วนราว 40% (กลุ่มหนี้หน้าใหม่) กลุ่มที่เหลือสัดส่วนราว 60% เป็นผู้ที่มีหนี้อยู่ก่อนแล้วและมีภาระหนี้เพิ่มขึ้นตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิด นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามที่มีหนี้ในปัจจุบันมีแนวโน้มจะกู้ยืมเพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้มีหนี้นอกระบบที่ต้องการกู้เพิ่มขึ้นจากทั้งแหล่งในและนอกระบบ ขณะที่ผู้มีหนี้ในระบบมีแนวโน้มก่อหนี้นอกระบบมากขึ้น อีกข้อสังเกตหนึ่งที่น่าสนใจพบว่า วัตถุประสงค์การกู้เงินที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดวิกฤตโควิดส่วนใหญ่เพื่อใช้จ่ายค่าอาหารและสินค้าจำเป็น แต่ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ผู้มีหนี้ส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะกู้ยืมเพื่อชำระหนี้เดิมเป็นหลัก สะท้อนความเปราะบางด้านภาระหนี้ของครัวเรือนที่อาจรุนแรงขึ้น กดดันการนำเงินออมออกมาใช้จ่ายเพื่อการบริโภคในระยะต่อไป
  3. ทักษะทางการเงินมีความสัมพันธ์กับการเป็นหนี้ของครัวเรือน SCB EIC สำรวจและคำนวณคะแนนทักษะทางการเงินของผู้ตอบแบบสอบถามจาก 3 องค์ประกอบ คือ ความรู้ทางการเงิน พฤติกรรมทางการเงินและทัศนคติทางการเงิน พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่มีคะแนนทัศนคติทางเงินในระดับไม่สูงนักโดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีหนี้นอกระบบ ซึ่งส่วนมากมีคะแนนความรู้ทางการเงินที่ดี แต่อาจมีความจำเป็นฉุกเฉิน ทำให้คะแนนพฤติกรรมหรือทัศนคติทางการเงินออกมาไม่ค่อยดีนัก (เช่น ไม่คิดก่อนใช้เงิน ไม่วางแผนการเงิน) ทำให้จำเป็นต้องกู้หนี้นอกระบบ นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มที่มีหนี้นอกระบบมีคะแนนทักษะทางการเงิน ความเข้าใจเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ และระดับรายได้โดยเฉลี่ยต่ำกว่ากลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สะท้อนข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินกู้ในระบบของคนกลุ่มนี้
  4. ผลสำรวจหนี้ครัวเรือนผ่านมุมมองผู้บริโภคของ SCB EIC ชี้ว่า ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทยยังน่ากังวลและควรได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ปัญหานี้นับเป็นความท้าทายสำคัญของเศรษฐกิจไทย แต่สามารถทยอยแก้ไขให้ดีขึ้นได้หากทุกภาคส่วนร่วมมือกันและต้องใช้เวลา ภาพรวมผลสำรวจของ SCB EIC ครั้งนี้มีนัยต่อภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือนดังนี้ ภาครัฐจำเป็นต้องให้ความช่วยเหลือเชิงนโยบายและให้ความรู้ทักษะทางการเงินทุกมิติอย่างเป็นระบบ โดยเฉพาะทัศนคติทางการเงินและความเข้าใจเกี่ยวกับหนี้นอกระบบ รวมถึงหยุดวงจรหนี้นอกระบบอย่างค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากมีประชาชนจำนวนมากที่พึ่งพิงหนี้นอกระบบอยู่ ภาคธุรกิจจำเป็นต้องติดตามกฎระเบียบและนโยบายแก้หนี้ครัวเรือนของภาครัฐอย่างใกล้ชิด เนื่องจากภาครัฐมีแนวโน้มจะเข้ามาแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังมากขึ้น อีกทั้ง ควรเตรียมความพร้อมไว้หากปัญหาหนี้ครัวเรือนรุนแรงขึ้นจนอาจกระทบกำลังซื้อ ภาคครัวเรือนควรผ่อนชำระหนี้ให้มากกว่าการจ่ายขั้นต่ำ ลดการก่อหนี้ใหม่ที่ไม่จำเป็น ปลูกฝังวินัยการออมเพื่อรองรับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้อีก และปรับทักษะให้สอดคล้องกับโลกหลังวิกฤติโควิดเพื่อเพิ่มความมั่นคงของกระแสรายได้

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน