สูตรความแข็งแรง “คนจีน” กับวัฒนธรรม “การเดิน”  

Credit Photo : REUTERS/Andreas Gebert

Credit Photo : REUTERS/Andreas Gebert

เพิ่มเพื่อน

ในปัจจุบันมีประเทศเอเชียหลายแห่งที่ถูกเรียกว่า ได้เข้าสู่ “สังคมสูงอายุ” อย่างสมบูรณ์แล้ว ซึ่งงานวิจัยหลายแห่ง รวมทั้งบทวิเคราะห์ของ “องค์การอนามัยโลก” (WHO) ยืนยันว่า ประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมทั้งประเทศไทย กำลังกลายเป็นสถานที่ที่เต็มไปด้วยคนสูงวัยเกือบครึ่งหนึ่งของประชากรในประเทศ

ที่น่าสนใจคือ กลุ่มผู้สูงอายุจากประเทศเอเชียมักมีวิธีการดูแลสุขภาพที่น่าสนใจและแตกต่างกัน อย่างเช่น “ญี่ปุ่น” แน่นอนว่า ส่วนใหญ่ทุกคนจะพูดถึงในแง่ของอาหารการกินในวิถีชาวเฮลตี้ ซึ่งไม่เพียงแค่กลุ่มวัยทำงานเท่านั้น แต่คนสูงวัยชาวญี่ปุ่น จะมีวิธีการรับประทานอาหาร และคัดสรรอาหารเพื่อสุขภาพอย่างพิถีพิถันมาก เช่น การเลือกรับประทานอาหารให้อิ่มเพียง 80เท่านั้น เป็นต้น

แต่สำหรับ “คนสูงอายุชาวจีน” อย่างที่เราทราบและน่าจะเห็นอยู่บ่อยๆ ก็คือ คนสูงอายุคนจีนบางคนที่อายุเกิน 70-80 ขึ้นไป ส่วนใหญ่ยังสามารถเดินไปไหนมาไหนได้โดยไม่ต้องมีคนช่วยพยุง หรือบางคนยังสามารถทำอาหารได้ ความน่าทึ่งเหล่านี้จึงได้รับความสนใจจากนักวิเคราะห์จำนวนมาก

นักวิเคราะห์ของ WHYY สถานีวิทยุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา ทำการวิจัยบุคคลิกและวิธีการใช้ชีวิตประจำวันของ “คนสูงวัยชาวจีน” ที่ศูนย์คนสูงวัย Selfhelp Benjamin Rosenthal ในนครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเมืองที่มีชุมชนชาวจีนอาศัยอยู่ค่อนข้างมากในสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ความน่าสนใจของคนสูงอายุชาวจีน ก็คือ “การเดินระหว่างวัน” ซึ่งพวกเขาจะนิยมการเดินระหว่างวันมากกว่าการออกกำลังกายอย่างจริงจังเพียงเวลาเดียว

โดยจะใช้เวลาเดินอย่างต่อเนื่อง 5-15 นาทีทุกวันสำหรับคนสูงอายุที่มีอายุมากกว่า 70 ปีขึ้นไป แต่สำหรับคนจีนที่มีอายุประมาณ 40-50 ปี ส่วนใหญ่จะเดินประมาณ 30 นาทีต่อเนื่องทุกวัน

Jane Qiu ผู้อำนวยการโครงการวิจัยที่ศูนย์ดังกล่าวนี้ กล่าวว่า คนจีนที่อยู่โพ้นทะเล หรือ คนจีนที่อาศัยอยู่ในต่างแดน ยังมีความใกล้เคียงกับคนจีนในแผ่นดินใหญ่ ในเรื่อง “วิธีการออกกำลังกาย” ซึ่งเมื่อเทียบกับผู้สูงอายุสัญชาติอื่นที่อยู่ในศูนย์ฯ เดียวกันนั้น พบว่า ชาวจีนกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุระหว่าง 40-70 ปี จำนวน 500 คน ชื่นชอบการเดินแบบเร็วเพื่อออกกำลังกายมากที่สุด และส่วนใหญ่เป็นการเดินออกกำลังกายในช่วงเช้า และการเดินระหว่างวัน ขณะที่คนสูงอายุจากประเทศอื่นในยุโรป และคนอเมริกัน จะใช้วิธีการออกกำลังกายที่หลากหลาย เพียง 1 ครั้ง/วัน (ช่วงเช้า หรือ ช่วงเย็น) และใช้เวลา 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง

ทั้งนี้ ทีมวิเคราะห์ของ WHYY ยังพบว่า การเดินเพียงระยะเวลาสั้นๆ จากการสำรวจพบว่า มีส่วนทำให้ดูอ่อนเยาว์กว่าอายุ และทำให้ร่างกายรู้สึกกระปรี้กระเปร่า เพราะการเดินเร็วทำให้เกิดการเต้นของหัวใจเพิ่มขึ้น เลือดสูบฉีดในระดับที่ดี จึงช่วยให้การทำงานของหัวใจและปอดดีขึ้น  ซึ่งอวัยวะทั้ง 2 มีความสำคัญต่อเซลล์ต่างๆ ของร่างกาย

ทีมวิจัยยังอ้างคำวิเคราะห์ของ แพทย์ที่เชี่ยวชาญในด้านสุขภาพของผู้สูงอายุว่า ในปัจจุบันนี้ยังไม่มียาหรือสารอาหารใด ที่จะทำให้หัวใจและปอดมีความแข็งแรง เทียบเท่ากับการออกกำลังกาย

นอกจากนี้ การสำรวจในกลุ่มตัวอย่างยังพบว่า ผู้ที่มีน้ำหนักตัวมากเกินเกณฑ์ การเดินเร็วจะช่วยให้น้ำหนักตัวลดลงได้เฉลี่ย 2-5 กิโลกรัม ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมและวิธีการรับประทานอาหารของบุคคลนั้นๆ 

ผลการสำรวจยังระบุด้วยว่า การเดินเร็วอย่างสม่ำเสมอช่วยให้ “อินซูลิน” หรือ ฮอร์โมนชนิดอนาโบลิกโพลีเพบไทด์ ทำหน้าที่ควบคุมการเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต สามารถทำงานได้ดีขึ้น หมายความว่า ร่างกายจะนำน้ำตาลไปใช้งานได้ดีขึ้น ผลพลอยได้ก็คือ ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคเบาหวาน

การเดินเร็ว ซึ่งเป็นกิจกรรมหลักๆ ของกลุ่มผู้สูงอายุชาวจีน ไม่เพียงแต่จะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง ดูอ่อนเยาว์ ยังส่งผลต่อ “จิตใจ” ช่วยผ่อนคลายความตึงเครียด หรือ ความหดหู่ที่เกิดขึ้นได้ง่ายกับผู้สูงวัย โดยสมองจะเกิดการหลั่งสารเอ็นโดฟินส์ขึ้น ซึ่งเป็นสารเคมีธรรมชาติที่มีฤทธิ์บรรเทาอาการปวดและทำให้รู้สึกผ่อนคลาย

ก็จริงดั่งผลการสำรวจข้างต้น เพราะเมื่อครั้งหนึ่งผู้เขียนเคยมีโอกาสเดินทางไปประเทศจีนอยู่ 2 เมือง คือ หูหนาน และกวางโจว ซึ่งก็เห็นชัดเจนว่า พฤติกรรมคนจีนเกือบจะทุกเพศทุกวัยที่ชื่นชอบการเดินเป็นชีวิตจิตใจ และด้วยความเป็น “ชาตินิยม” ขั้นสุด จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเห็นว่า ชาวจีนโพ้นทะเลที่แม้ว่าจะเกิดหรืออพยพไปอยู่แดนไกลแล้ว แต่วัฒนธรรมการเดินก็ยังไม่ทิ้งห่าง ผู้เขียนขอยืนยันอีกเสียงว่า คนสูงวัยชาวจีนส่วนใหญ่ยังแข็งแรงมากๆ บางคนที่ผู้เขียนเคยเห็นนั้น เป็นเจ้าของร้านอาหารวัย 80 ปี ยังลงมือทำอาหารอย่างกระฉับกระเฉง น่าทึ่งจริงๆ

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!.... เพิ่มเพื่อน