“เอเอ็ม เบสท์” ชี้ บริษัทประกันญี่ปุ่นมองเห็นการเติบโตผ่านการขยายธุรกิจไปต่างประเทศและ M&A เหตุตลาดญี่ปุ่นโตยาก ประชากรหด-สูงวัยเยอะ เล็ง”อเมริกา- ออสซี่-กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว” จับตา! 3 ยักษ์วินาศภัย “โตเกียวมารีน-MS&AD- ซมโปะ” เงินล้นเพราะรัฐสั่งขายหุ้น
เว็บไซต์ AsiaInsuranceReview รายงานข่าวว่า บริษัท เอเอ็ม เบสท์ สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกระบุ บริษัทประกันภัยของญี่ปุ่นกำลังขยายกิจการไปยังต่างประเทศและควบรวมและเข้าซื้อกิจการ( M&A) เป็นหลัก เนื่องจากตลาดญี่ปุ่นถึงจุดอิ่มตัว โดยมีศักยภาพการเติบโตที่จำกัดเนื่องจากประชากรมีจำนวนลดลงและมีอายุมากขึ้น
ตั้งแต่ปี 2564 เป็นต้นมา รายได้เบี้ยประกันภัยที่เพิ่มขึ้นของบริษัทประกันชีวิตของญี่ปุ่นมาจากประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพยแบบชำระเบี้ยประกันภัยครั้งเดียวหรือซิงเกิล พรีเมี่ยม( single-premium ) ที่มียอดขายเพิ่มขึ้นเป็นหลัก แต่บริษัทประกันชีวิตต้องเผชิญกับความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตแบบดั้งเดิมที่ซบเซาลง
เอเอ็ม เบสท์ คาดว่า ยอดขายเบี้ยประกันชีวิตธุรกิจใหม่ (new business) จะยังคงแข็งแกร่งอยู่ แต่การเติบโตของเบี้ยประกันชีวิตกรมธรรม์ที่มีผลบังคับจะลดลง ขณะที่เบี้ยประกันชีวิตที่ขับเคลื่อนโดยยอดขายประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพย์ โดยทั่วไปมักเกิดขึ้นในช่วงสั้นๆ หรือเพียงชั่วคราว อีกทั้งยอดขายประกันชีวิตประเภทนี้มีความอ่อนไหวต่อความผันผวนของอัตราดอกเบี้ยทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา
นอกจากนี้ อัตรากำไรสำหรับประกันชีวิตประเภทสะสมทรัพย์จะค่อนข้างบาง ส่งผลให้การเติบโตในผลกำไรสุทธิของบริษัทประกันชีวิตของญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีจำกัด อย่างไรก็ตาม กำไรหลังหักภาษียังคงเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2567 และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา แม้ว่าจะลดลงเล็กน้อยในปี 2566 ก็ตาม
เอเอ็ม เบสท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า อุตสาหกรรมประกันภัยของญี่ปุ่นมีการควบรวมกิจการกันเยอะ(โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประกันวินาศภัย) โดยมีการเติบโตของเศรษฐกิจ( GDP) ในอุตสาหกรรมที่ไม่มากนัก ทำให้โอกาสในการเติบโตจากการพัฒนาภายในของธุรกิจ (organic growth) มีจำกัดยิ่งขึ้น
“เพื่อรักษาการเติบโตในระยะยาว บริษัทประกันภัยกำลังกระจายแหล่งรายได้และมองหาโอกาสในการเติบโตในตลาดต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และประเทศที่พัฒนาแล้วอื่นๆ”
บริษัทประกันวินาศภัยรายใหญ่มีแนวโน้มที่จะมีเงินทุนส่วนเกินมากขึ้นในปีต่อๆ ไป จากการเร่งขายหุ้นที่ถือครองเชิงกลยุทธ์ออกไป หลังจากหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงิน( Financial Services Agency:FSA) ของญี่ปุ่นออกคำสั่งให้ปรับปรุงธุรกิจ
“กลุ่มธุรกิจประกันวินาศภัย 3 กลุ่มหลักของญี่ปุ่น (โตเกียวมารีน, เอ็มเอสแอนด์เอดี (MS&AD),ซมโปะ) ได้ประกาศแผนการที่จะลดการถือครองหุ้นเชิงกลยุทธ์ลงเหลือศูนย์ภายใน 5-6 ปีข้างหน้า ซึ่งจะส่งผลให้กลุ่มมีรายได้จากการขายหุ้นเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก” เอเอ็ม เบสท์กล่าวในตอนท้าย
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com