S&P มอง ตลาดประกันชีวิตเอเชีย แปซิฟิก “stable “ รับปัจจัยบวกทั้งเศรษฐกิจเติบโต หน่วยงานกำกับปรับกฎระเบียบ เพื่อให้บริษัทประกันแข็งแกร่งทั้งการดำรงเงินกองทุน การจัดการความเสี่ยง เตือนภัยปัจจัยเสี่ยง ตลาดการเงินผันผวนกระทบลงทุน

เว็บไซต์ Asiainsurancereview รายงานว่า บริษัท เอสแอนด์พี เรตติ้งส์   เซอร์วิส(S&P ) สำนักจัดอันดับความน่าเชื่อถือจัดนำระดับโลกระบุในรายงานฉบับล่าสุด ประเมินแนวโน้มตลาดประกันชีวิตส่วนใหญ่ในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก “stable “ หรือ “มีเสถียรภาพ “   

S&P  กล่าวว่า แม้ว่า เอเชีย แปซิฟิกจะประกอบด้วยตลาดประกันชีวิตที่มีพัฒนาการแตกต่างกันอย่างมาก แต่หากมองปัจจัยเชิงบวกทั่วไปที่สนับสนุนแนวโน้มด้านอันดับความน่าเชื่อถือ (credit rating) ของบริษัทประกันชีวิตในภูมิภาคนี้แล้ว  ปัจจัยเหล่านี้เป็นศักยภาพการเติบโตที่แข็งแกร่งในระยะยาวท่ามกลางการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องและการปรับปรุงกฎระเบียบด้านการดำรงเงินกองทุนให้แข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น รวมถึงการจัดการด้านความเสี่ยง และบรรษัทภิบาลหรือการกำกับดูแลกิจการ( corporate governance ) ที่ดี

ในทางกลับกัน S&P มองว่า สภาวะการลงทุนที่มีความผันผวนในปัจจุบัน เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อสถานะทางการเงินของบริษัทประกันภัยในเอเชีย แปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม ระดับของความผันผวนด้านการลงทุนยังคงต่ำกว่าวิกฤติการเงินโลกในปี 2551-2552 อย่างมาก และสำหรับบริษัทประกันภัยหลายบริษัทแล้ว   บทเรียนที่ได้รับจากวิกฤตการณ์ทางการเงินและการดำเนินการตามแนวทางการจัดการความเสี่ยงที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากความผันผวนของตลาดการเงินในปัจจุบันลงได้

ขณะเดียวกัน ตลาดการลงทุนที่ตื้นเขินและการขาดแคลนสินทรัพย์ที่มีอายุยืนยาวเพื่อให้สอดคล้องกับภาระหนี้สินระยะยาว ยังคงเป็นความท้าทายสำหรับการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (asset-liability)  ซึ่ง ในตลาดเอเชีย แปซิฟิกส่วนใหญ่ รวมถึงญี่ปุ่น   ทาง S&P  มองว่า  ความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยอันเป็นผลจากความไม่ตรงกันของระยะเวลาสินทรัพย์และหนี้สิน แสดงถึงความเสี่ยงที่สำคัญต่อการแปลงสินทรัพย์เป็นทุนของบริษัทประกันภัยหลายแห่งในภูมิภาค

อย่างไรก็ดี เพื่อตอบสนองต่อแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น  ธนาคารกลางหลายแห่งในเอเชีย แปซิฟิกได้ปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น   การที่อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้นอาจส่งผลทั้งเชิงบวกและเชิงลบต่อบริษัทประกันชีวิตในภูมิภาค  โดยในตลาดต่างๆ อาทิ  ญี่ปุ่น เกาหลี และไต้หวัน  ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยติดลบได้ส่งผลเสียต่อความสามารถในการทำกำไรของบริษัทประกันชีวิต แต่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นจะทำให้ส่วนต่างดอกเบี้ยติดลบแคบลงและทำให้รายได้ของบริษัทประกันภัยดีขึ้น

ในเวลาเดียวกัน  การเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ยอาจกระตุ้นให้มีการเวนคืนกรมธรรม์ประกันภัยประเภทอัตราดอกเบี้ยคงที่ (fixed-interest) เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วก็เป็นได้   ซึ่งกรมธรรม์ประเภทนี้ในหลายประเทศได้เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และอาจส่งผลให้การจัดการด้านสภาพคล่องมีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นสำหรับบริษัทประกันชีวิต

S&P ได้วิเคราะห์คะแนนความเสี่ยงในอุตสาหกรรมประกันภัยและเศรษฐกิจ รวมถึงแนวโน้มตลาดประกันชีวิต 11 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง อินเดีย ญี่ปุ่น เกาหลี มาเลเซีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย

S&P ปรับแนวโน้มตลาดประกันชีวิตของเกาหลีจาก” Stable’ หรือ ‘มีเสถียรภาพ’   เป็น‘Positive’ หรือ”บวก’  โดยอิงจากความคาดหวังว่า ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทประกันชีวิตจะดีขึ้น  ขณะเดียวกันได้คงแนวโน้มภาคประกันภัยของญี่ปุ่นเป็น “negative” หรือ”ลบ”  โดยสะท้อนถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและการลงทุนที่ย่ำแย่  ส่วนตลาดอื่นๆ  ยังคงแนวโน้มไว้ที่ ‘Stable’

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....