เปิดผลกระทบไต้ฝุ่น”ยางิ”ถล่มเวียดนาม  สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจแล้วมากกว่า 3.2 พันล้านเหรียญ   ชี้ 26 จังหวัดหายนะที่ตั้งเขตเศรษฐกิจสำคัญ นิคมอุตสาหกรรมโดนถ้วนหน้า เป็น FDI ต่างชาติเพียบ  ขณะที่บริษัทประกัน-รีอินชัวเรอร์อ่วมอรทัย ยอดเคลมพุ่งไม่หยุด ทะลุล้านล้านดอง แย้มวิกฤติยังมีโอกาส  ภาควัสดุก่อสร้าง  ค้าปลีก และโลจิสติกส์  อาจได้ประโยชน์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอานิสงส์ฟื้นฟูธุรกิจ ซ่อมแซมทรัพย์สิน

            เว็บไซต์  AsiaInsuranceReview รายงานว่า บริษัท FiinGroup ให้บริการข้อมูลทางการเงิน ข้อมูลธุรกิจ การวิจัยอุตสาหกรรมและบริการวิเคราะห์ข้อมูลขั้นสูงอื่นๆ เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์พายุไต้ฝุ่น”ยางิ”  ( YAGI) พัดถล่มเวียดนามได้สร้างความหายนะอย่างรุนแรงให้กับ 26 จังหวัดและเมืองทางตอนเหนือของเวียดนาม รวมถึงเขตเศรษฐกิจสำคัญอย่างไฮฟอง (Hai Phong), กวางนิญ(Quang Ninh) และฮานอย (Hanoi)   ซึ่งพื้นที่เหล่านี้เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมที่สำคัญๆ ที่สร้างรายได้รวมกันคิดเป็นสัดส่วน 25.81% ของเศรษฐกิจหรือจีดีพี( GDP) และคิดเป็นสัดส่วน 17.27% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของเวียดนาม  

ไต้ฝุ่น”ยางิ”เคลื่อนตัวเข้าถล่มเวียดนามเมื่อวันที่ 7-8 กันยายน 2567   

ในรายงาน  หัวข้อ “ผลกระทบของไต้ฝุ่น”ยางิ” ต่อเศรษฐกิจเวียดนาม “Impact of Typhoon Yagi on Vietnam’s Economy ” ที่ FiinGroup จัดทำขึ้น ระบุว่า ณ วันที่ 28 กันยายน 2567 ทางการเวียดนามประมาณการว่า ไต้ฝุ่น”ยางิ” ได้สร้างความเสียหายมากกว่า 81.50 ล้านล้านดอง (3.28 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ) โดยเมืองไฮฟองและเมืองกวางนิญเป็น 2 เมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด มีความเสียหายทางเศรษฐกิจมูลค่า  12.20 ล้านล้านดอง และ 24.80 ล้านล้านดอง ตามลำดับ (1,000 ดองประมาณ1.35บาท)

จังหวัดที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดคือจังหวัดที่เป็นเขตอุตสาหกรรมซึ่งเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรม 111 แห่ง ซึ่งมีบริษัทที่เป็นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ประกอบธุรกิจอยู่ในเขตอุตสาหกรรมนี้ถึง 4,760 แห่ง  อาทิ  อุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศ ,การผลิต ,การก่อสร้าง และการท่องเที่ยว  ทั้งนี้ภาคเกษตรได้รับผลกระทบหนักที่สุด โดยได้รับความเสียหายมากกว่า 30.80 ล้านล้านดอง คิดเป็นสัดส่วน 38% ของความเสียหายทางเศรษฐกิจทั้งหมดของเวียดนาม

บริษัทประกัน-รีอินชัวเรอร์อ่วม!

เคลมพุ่งไม่หยุดทะลุล้านล้านดอง

FiinGroup  กล่าวว่า  ไต้ฝุ่น”ยางิ” สร้างความท้าทายอย่างมากต่ออุตสาหกรรมประกันภัยของเวียดนาม  ประมาณการค่าสินไหมทดแทนสำหรับความเสียหายต่อผู้คนและทรัพย์สินที่มีการทำประกันภัยไว้พุ่งทะลุล้านล้านดองเรียบร้อยแล้วและยอดเคลมยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สถิติเบื้องต้น ณ วันที่ 17 กันยายน ปี2567   พบว่า มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย 329 ราย บาดเจ็บประมาณ 1,929 ราย บ้านเรือนได้รับความเสียหายมากกว่า 234,700 หลัง โรงเรียน 1,500 แห่ง และโครงการโครงสร้างพื้นฐานจำนวนมากพังทลายหรือได้รับความเสียหาย  อาทิ  เหตุการณ์เขื่อนกั้นน้ำ 726 ครั้ง ,พื้นที่นาข้าว พืชผลและผลไม้กว่า 307,400 เฮกตาร์ถูกน้ำท่วมและได้รับความเสียหาย( 1 เฮกตาร์ประมาณ 6 ไร่ 1 งาน),กรงเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ 3,722 กรงได้รับความเสียหายหรือถูกน้ำพัดหายไป ,สัตว์เลี้ยงและสัตว์ปีกเกือบ 3 ล้านตัวตาย  ต้นไม้ในเมืองเกือบ 310,000 ต้นหักโค่น เป็นต้น โดยตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงตัวเลขในเบื้องต้นเท่านั้น  เนื่องจากยังไม่มีการประเมินขอบเขตความเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่น”ยางิ”และผลที่ตามมาอย่างครอบคลุมและครบถ้วน

พายุไต้ฝุ่น”ยางิ” จะส่งผลให้บริษัทประกันภัยมีต้นทุนค่าสินไหมทดแทนเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และส่งผลกระทบทางอ้อมเชิงลบต่อบริษัทรับประกันภัยต่อ (Reinsurer)  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Vietnam National Reinsurance Corporation (Vinare) ซึ่งเป็นบริษัทรับประกันภัยต่อที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในเวียดนาม )

ฉุดเศรษฐกิจหด 0.15%

หนี้คงค้าง100ล้านล้านดอง

FiinGroup  กล่าวว่าผลกระทบอื่นๆ ที่เกิดจากพายุไต้ฝุ่น”ยางิ” ได้แก่ ผลกระทบเฉพาะภาคส่วน: พายุไต้ฝุ่น”ยางิ”ได้ส่งผลกระทบต่อระบบโลจิสติกส์ ,การผลิต, เกษตรกรรม, การค้า และการท่องเที่ยว นอกจากนี้ ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตของจีดีพีในปี 2567  ลดลง 0.15% ในภาคส่วนหลัก เช่น ภาคเกษตรกรรม, ภาคอุตสาหกรรม และภาคบริการ พบว่ามีอัตราการเติบโตลดลง

ภาคการธนาคาร: พายุไต้ฝุ่น”ยางิ” ทำให้ปัญหาการชำระหนี้ย่ำแย่ลงด้วยยอดสินเชื่อคงค้างที่ได้รับผลกระทบ 100 ล้านล้านดอง ขณะที่ธนาคารได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทันทีด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงและขยายระยะเวลาการชำระหนี้ออกไป

โอกาสในวิกฤติ

การฟื้นตัวและโอกาส: ภาคส่วนบางภาคส่วน  อาทิ   วัสดุก่อสร้าง, ค้าปลีก และโลจิสติกส์ อาจได้รับประโยชน์จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากความพยายามในการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจ  ซ่อมแซมทรัพย์สินต่างๆที่ได้รับความเสียหายไม่ว่าจะเป็นบ้านเรือน โรงงาน องค์กรธุรกิจ นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ฯลฯ  ในขณะที่โครงการสนับสนุนของรัฐบาลจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจ

การตอบสนองของรัฐบาล: รัฐบาลมีการดำเนินการอย่างรวดเร็วเพื่อแก้ไขผลกระทบต่างๆ ที่ตามมา  โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพของชีวิตประชาชน แม้จะเผชิญกับความท้าทายต่างๆ  แต่ความยืดหยุ่นและมาตรการด้านนโยบายของเวียดนามคาดว่าจะช่วยลดทอนความเสียหายในระยะยาวลงได้

 

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....