“แม็คคินซีย์”บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกชี้ กลุ่มประเทศเกิดใหม่ในเอเชียอาจเผชิญ “วิกฤติระบบบำนาญ” ผู้สูงอายุขาดรายได้หลังเกษียณมูลค่าถึง 74 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เหตุกลุ่มสูงวัยอายุเกิน 60 ปีพุ่งติดจรวด แนะประกันภัยดีไซน์โปรดักต์ปิดช่องว่างระบบบำนาญ สร้างหลักประกันภัยที่มั่นคงยามเกษียณ
เว็บไซต์ Insurance Asia รายงานว่า บริษัท แม็คคินซีย์ (McKinsey) บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก เปิดเผยรายงานฉบับล่าสุด ระบุว่า ภูมิภาคเอเชียอาจเผชิญกับปัญหาใหญ่ คือการขาดรายได้หลังการเกษียณอายุเนื่องจากจำนวนผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี คาดว่าจะมีสัดส่วนคิดเป็น 25% ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจาก 14% ในปี 2563
รายงานของแม็คคินซีย์เผยว่า ตลาดเกิดใหม่ในเอเชียกำลังเผชิญกับปัญหาข้างต้นจากการขาดแคลนเงินออมเพื่อการเกษียณอายุคิดเป็นมูลค่าถึง 74 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเทียบเท่ากับรายได้ประมาณ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อแรงงาน 1 คน หรือ 11 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อปี ขณะที่ในบางประเทศ อาทิ อินเดียและอินโดนีเซีย ระบบเงินบำนาญครอบคลุมประชากรเพียง 8% ของประชากรทั้งหมดเท่านั้น
แม็คคินซีย์กล่าวว่า เพื่อแก้ปัญหาความตึงเครียดในระบบสาธารณะ รัฐบาลอาจนำมาตรการต่างๆ มาใช้ อาทิ การขยายอายุการเกษียณออกไป เพื่อส่งเสริมให้มีอายุการทำงานที่ยาวนานขึ้น และสนับสนุนการออมผ่านแรงจูงใจทางภาษีต่างๆ เป็นต้น โดยในออสเตรเลีย กำลังมีการหารือเกี่ยวกับการนำระบบประกันภัยการดูแลผู้สูงอายุมาใช้ ซึ่งอาจได้รับเงินสนับสนุนจากภาษีที่เพิ่มขึ้นหรือการจัดเก็บภาษี Medicare โดยเฉพาะ
ส่วนภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทประกันภัย สามารถเข้ามามีบทบาทสำคัญในการเติมเต็มช่องว่างของระบบเงินบำนาญ ซึ่งปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษียณอายุที่มีอยู่ในท้องตลาดมักจะไม่เพียงพอกับความต้องการเนื่องจากเงื่อนไขไม่มีความยืดหยุ่น ผลตอบแทนต่ำ และค่าธรรมเนียมที่สูงเกินไป ตัวอย่างเช่น ผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบเงินได้ประจำตลอดชีพในเอเชียมักให้ผลตอบแทนต่ำและขาดความยืดหยุ่น ขณะที่ผลิตภัณฑ์ประกันภัยดูแลผู้สูงอายุยังเป็นสิ่งที่ประชาชนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงได้เพราะไม่มีกำลังที่จะจ่ายเบี้ยประกันภัย โดยในบางประเทศ อาทิ จีน มีการเจาะตลาดได้อย่างจำกัด
อย่างไรก็ดี แม็คคินซีย์ให้ข้อแนะนำว่า บริษัทประกันภัยสามารถสร้างสรรค์นวัตกรรมต่างๆได้ โดยการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่มีความยืดหยุ่นและผสานรวมเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน ตัวอย่างเช่น กองทุนเป้าหมายที่มีการปรับการจัดสรรสินทรัพย์ตามระยะเวลา และสินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุโดยมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน( Reverse Mortgages )ที่แปลงมูลค่าสุทธิบ้านเป็นรายได้จากการเกษียณอายุ แม้ว่าปัจจุบัน ตลาดกลุ่มนี้จะมีส่วนแบ่งการตลาดในเอเชียเพียงเล็กน้อยก็ตาม แต่สินเชื่อเพื่อผู้สูงอายุโดยมีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันก็มีศักยภาพในการเติบโตในอนาคต
นอกจากนี้ การให้ความรู้แก่ลูกค้าก็มีความสำคัญอย่างมากเช่นกัน โดยที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial advisers )ควรได้รับการฝึกอบรมความรู้เพื่อให้สามารถอธิบายผลิตภัณฑ์เพื่อการเกษียณอายุแก่ลูกค้าได้อย่างชัดเจนและช่วยให้ลูกค้าสามารถวางแผนทางการเงินและประกันภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่เทคโนโลยีต่างๆ เช่น Generative AI อาทิ ChatGPT สามารถสนับสนุนความพยายามด้านการศึกษาได้
สุดท้าย การสร้างระบบนิเวศสำหรับบริการเพื่อการเกษียณอายุผ่านการจับมือเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันหรือการเข้าซื้อกิจการอาจช่วยยกระดับประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้นได้ ตัวอย่างเช่น การรวมเงินออมเพื่อการเกษียณอายุเข้ากับการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกในการดูแลผู้สูงอายุอาจสนับสนุนการนำเสนอบริการที่ครอบคลุมมากขึ้นแก่ผู้สูงอายุได้ เป็นต้น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....
ทีมงาน INN WHY? รายการเพื่อผู้บริโภค ร่วมปฏิวัติความคิด ปรับเปลี่ยนชีวิต ก้าวสู่ความมั่นคง หลังเกษียณ
ติดตามเราได้ที่ไลน์แอด @INNWHY.TV หรือ Facebook.com/INNWHY.TV และ Youtube.com/c/innwhy
Contact us : INNWHY31@gmail.com