โตเกียว มารีน กรุ๊ป กางผลศึกษาล่าสุด  ชี้ชัด อัตราทำประกันภัยต่ำในหัวเมืองใหญ่ทั่วโลกยังคงเป็นภัยคุกคามบุคคล ธุรกิจและรัฐบาล  ขาดเครื่องมือป้องกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศทั้งภัยพิบัติภัยไซเบอร์   ย้ำประกันภัยและประกันภัยต่อมีบทบาทสำคัญในการบรรเทาภาระทางการเงินจากเหตุการณ์ไม่คาดฝันรวมถึงความเสี่ยงใหม่จากเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ที่ท้าทายสุดๆ     

            เว็บไซต์ Insurance Business America   รายงานว่า  ผลการศึกษาใหม่ล่าสุด   “Resilient Cities Index “ที่บริษัท โตเกียว มารีน กรุ๊ป กลุ่มประกันภัยยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นและ Economist Impact  ร่วมกันจัดทำขึ้น ได้เน้นย้ำถึงการขาดโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพในเมืองต่างๆ ทั่วโลกเพื่อรับมือกับผลกระทบที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ( climate change)  โดยได้เน้นย้ำถึงบทบาทที่สำคัญของการประกันภัยและการประกันภัยต่อในการบรรเทาภาระทางการเงินของปัจเจกบุคคลและองค์กรธุรกิจอันเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ

ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่ระบุไว้ในผลการศึกษานี้ คืออัตราการทำประกันภัย(วัดจากเบี้ยประกันภัยต่อจีดีพี)ที่อยู่ในระดับต่ำในเขตเมืองต่างๆ  ซึ่งช่องว่างนี้ทำให้ปัจเจกบุคคลมีความเสี่ยงต่อความยากลำบากทางการเงินเมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันต่างๆ อาทิ   ภัยพิบัติทางธรรมชาติ   อุบัติเหตุหรือเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพ  เป็นต้น  การไม่มีประกันภัยที่เพียงพอไม่เพียงส่งผลกระทบต่อปัจเจกบุคคลและครอบครัวเท่านั้น แต่ยังบ่อนทำลายความยืดหยุ่นโดยรวมของเมืองอีกด้วย  โดยพื้นที่เมืองศูนย์กลางที่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่หลากหลาย เช่น ภัยพิบัติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ  ภัยคุกคามทางไซเบอร์ และความล้มเหลวของโครงสร้างพื้นฐาน กำลังดิ้นรนอย่างหนักเพื่อฟื้นฟูเมืองและสร้างใหม่โดยไม่มีการสนับสนุนด้านประกันภัยที่เพียงพอ

ผลศึกษายังชี้ให้เห็นว่า  เมืองต่างๆ ทั่วโลกหลายแห่งกำลังขาดมาตรการทางประกันภัยที่เพียงพอเพื่อรับมือกับผลกระทบของสภาพอากาศที่ผันผวนมากขึ้นเรื่อยๆ  และความถี่ของการเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดโต่งที่เพิ่มขึ้น  ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้ไล่ไปตั้งแต่พายุเฮอริเคนไปจนถึงไฟป่าและพายุรุนแรงได้เกิดขึ้นบ่อยครั้งมากขึ้นในภูมิภาคที่ไม่คุ้นเคยกับสภาพอากาศสุดโต่งดังกล่าว

สำหรับอัตราการทำประกันภัยในเมืองสำคัญๆ ของโลกวัดจาก 100 คะแนน มีดังนี้ อันดับ 1  ฮ่องกง  100 คะแนน อันดับ2 เคป ทาวน์  60.3 คะแนน อันดับ3 ลอส แอนเจลิส  59.3 คะแนน อันดับ 4  นิวยอร์ค    59.3 คะแนน   อันดับ 5 สิงคโปร์     54.5 คะแนน  อันดับ 6  ลอนดอน     53.8 คะแนน  อันดับ 7    ปารีส    50.7 คะแนน  อันดับ 8   อัมสเตอร์ดัม  44.6 คะแนน    อันดับ 9  โตเกียว   33.1  คะแนน  อันดับ 10   มิวนิค   30.9  คะแนน   ค่าเฉลี่ย 10 อันดับแรก อยู่ที่                 28.7 คะแนน

อันดับ 11   กรุงเทพมหานคร   25 คะแนน   อันดับ 12 บาร์เซโลนา    21.8  คะแนน  อันดับ13  นิวเดลี  18.5 คะแนน  อันดับ 14   เซี่ยงไฮ้   17.1  คะแนน   อันดับ  15   ซานดิเอโก  15.6  คะแนน   อันดับ 16  เมลเบิร์น 14.1  คะแนน  อันดับ 17 เซาเปาโล  13.7  คะแนน  อันดับ18   ดูไบ   13.5  คะแนน  อันดับ19 วอร์ซอว์  10.1  คะแนน  อันดับ 20  เม็กซิโก ซิตี้   10  คะแนน  อันดับ21  จาการ์ต้า    5.7  คะแนน  อันดับ 22   อิสตันบูล  4.5  คะแนน    อันดับ 23 ไคโร  1.1  คะแนน   อันดับ 24  เมือง ดาการ์ (เมืองหลวงประเทศเซเนกัล) 0 คะแนน และอันดับ24 ลากอส (เมืองที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไนจีเรีย)   0  คะแนน

คริส วิลเลี่ยมส์   รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและหัวหน้าร่วมฝ่ายธุรกิจระหว่างประเทศโตเกียว มารีน กรุ๊ป ได้ตอกย้ำถึงความถี่และความรุนแรงของเหตุการณ์สภาพอากาศสุดโต่งทั่วโลกที่เกิดเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  โดยได้ตั้งข้อสังเกตว่า ความเสี่ยงใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ซึ่งเกิดจากการพึ่งพาเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงด้านประชากรศาสตร์ กำลังขยายขอบเขตของความท้าทายที่เมืองต่างๆ ต้องเผชิญ  ซึ่งเขาก็ยอมรับว่ามีความยากลำบากในการคาดการณ์ถึงความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต แต่กระนั้น เขาได้เน้นย้ำถึงความรับผิดชอบของอุตสาหกรรมประกันภัยที่มีต่อลูกค้าและสังคม

“เราเห็นแล้วว่า การประกันภัยสามารถมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเจริญเติบโตของตลาดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ได้  การเพิ่มอัตราการทำประกันภัย เป็นวิธีที่เราสามารถที่จะช่วยให้ธุรกิจและชุมชนกลับมายืนหยัดได้อีกครั้งอย่างรวดเร็ว   โดยอุตสาหกรรมประกันภัยจะต้องดำเนินการมากกว่านี้เพื่อโน้มน้าวธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกให้รับ

ทราบถึงคุณค่าและความสามารถของอุตสาหกรรมประกันภัยในการป้องกันความเสี่ยงด้านเทคโนโลยีและสภาพภูมิอากาศที่ผันผวนมากขึ้น” วิลเลี่ยมส์กล่าว

 “Resilient Cities Index “ได้เรียกร้องให้มีการตระหนักรู้ที่เพิ่มมากขึ้นในระบบประกันภัยและการดำเนินการตามความคิดริเริ่มต่างๆ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงระบบประกันภัยและความสามารถในการจ่ายเบี้ยประกันภัยสำหรับชาวเมือง ซึ่งการศึกษาในครั้งนี้ถือเป็นกรณีที่ชัดเจนสำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมเพิ่มขึ้นของอุตสาหกรรมประกันภัยในการเตรียมความพร้อมให้แก่ธุรกิจและผู้กำหนดนโยบายทั่วโลกเพื่อจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศและภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยีที่ไม่มั่นคงมากขึ้น

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....