จับเทรนด์ประกันสุขภาพเอกชนโซนอาเซียนเติบโตสดใส อานิสงส์คนตระหนักรู้ด้านการดูแลสุขภาพเพิ่มมากขึ้น บวกรัฐบาลหนุนและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีเอื้ออนาคต    

               เว็บไซต์  AsiaInsuranceReview รายงานว่า ตลาดประกันสุขภาพเอกชนในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยได้รับแรงหนุนจากความตระหนักรู้ด้านการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้น ความคิดริเริ่มของรัฐบาล และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี

ตามรายงาน “ASEAN Insurance Pulse” ฉบับปี 2567  ที่บริษัท  Malaysian Re นำออกเผยแพร่ในการประชุมประกันภัยอาเซียนครั้งที่ 14 ที่จัดขึ้นในประเทศบรูไน เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2567 ระบุถึงหัวข้อเร่งด่วนของการจัดหาเงินทุนสนุบสนุนด้านการดูแลสุขภาพในอาเซียน

รายงานดังกล่าวเผยว่า  รัฐบาลในประเทศต่างๆ อาทิ   ไทยและอินโดนีเซียกำลังผลักดันให้มีความคุ้มครองการดูแลสุขภาพถ้วนหน้า ซึ่งอาจช่วยปรับปรุงการเข้าถึงผลิตภัณฑ์ประกันภัยได้ดียิ่งขึ้น ในขณะเดียวกัน การบูรณาการใช้เครื่องมือดิจิทัลและการวิเคราะห์ข้อมูลมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงวิธีที่บริษัทประกันภัยบริหารจัดการความเสี่ยง การบริการลูกค้า และการจัดการการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนต่อไป

ในประเทศอาเซียนที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ซึ่งมีประชากรรวมกันเกือบ 600 ล้านคน แต่ยังมีอัตราการเข้าทำประกันภัยต่ำ ขณะที่การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์กำลังเกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในประเทศเหล่านี้

รายได้ที่เพิ่มขึ้นและระดับการศึกษาที่สูงขึ้นทำให้ฐานลูกค้ามีความซับซ้อนมากขึ้น ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่ตระหนักถึงความสำคัญของการวางแผนทางการเงินและการประกันภัย เมื่อผู้คนมีอายุยืนขึ้น กลุ่มผู้บริโภคสูงอายุกลุ่มใหม่ก็เกิดขึ้น โดยมีความต้องการผลิตภัณฑ์ประกันภัยเฉพาะทางมากขึ้น

ในตลาดที่พัฒนาแล้ว อย่างสิงคโปร์ กำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปสู่กลยุทธ์การดูแลสุขภาพเชิงนวัตกรรม ซึ่งรวมถึงโปรแกรมเพื่อสุขภาพและการดูแลป้องกัน รวมถึงการสนับสนุนการดูแลที่บ้าน (home care ) สำหรับผู้สูงอายุ

นอกจากนี้ บริษัทประกันภัยยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยรายย่อยหรือไมโครอินชัวรันส์(microinsurance) และผลิตภัณฑ์สุขภาพทางดิจิทัลสำหรับประชากรที่มีรายได้น้อยมากขึ้น โดยเฉพาะในประเทศตลาดเกิดใหม่ เช่น อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งช่วยให้บุคคลทั่วไปสามารถซื้อความคุ้มครองสุขภาพพื้นฐานได้ในต้นทุนที่ต่ำลง

ขณะเดียวกัน ความต้องการความคุ้มครองที่ครอบคลุมถึงโรคร้ายแรง (critical illness) การดูแลระยะยาว และภาวะที่เกี่ยวข้องกับไลฟ์สไตล์ประจำวัน เช่น โรคเบาหวานและโรคหัวใจก็เพิ่มขึ้น  โดยเฉพาะในตลาดที่พัฒนาแล้ว อาทิ สิงคโปร์และมาเลเซีย เป็นต้น

เพื่อคว้าโอกาสในตลาดประกันสุขภาพ บริษัทประกันภัยได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางธุรกิจจากการขายและให้บริการผลิตภัณฑ์แบบดั้งเดิมไปมุ่งเน้นที่ลูกค้าและผลลัพธ์ด้านสุขภาพที่ลูกค้าต้องการมากขึ้น ซึ่งหมายถึงการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และข้อมูลเพื่อทำงานร่วมกับลูกค้าเพื่อส่งมอบการดูแลป้องกันตั้งแต่ระยะเริ่มต้น และบริการเฉพาะบุคคลเพื่อปรับปรุงการมีส่วนร่วมของลูกค้าให้ดียิ่งขึ้น

ผลการวิจัยดังกล่าวอิงบทสัมภาษณ์ผู้บริหารบริษัทประกันภัย/บริษัทประกันภัยต่อระดับภูมิภาคและระดับนานาชาติ  ,คนกลาง ,ผู้กำหนดนโยบาย และสมาคมการค้า โดยบริษัท Faber Consulting ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัย การสื่อสาร และการพัฒนาธุรกิจในเมืองซูริก โดยได้สัมภาษณ์ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายน ปี2567   

เพิ่มเราเป็นเพื่อนได้แล้ววันนี้!....